วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การยกและการเคลื่อนย้ายสิ่งของ

การยกและการเคลื่อนย้ายสิ่งของ

การวางแผนในการยกของ     ตามกฎหมายความปลอดภัยของไทย จะเห็นได้ว่ามีเพียงกฎกระทรวงที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ ที่ออกเมื่อปี 2547 นั้น ในกฎหมายมิได้มีการกำหนดท่าทางการยกของที่ถูกต้อง เพียงแต่กำหนดอัตราน้ำหนักในการยกเท่านั้น โดยกำหนดไว้ดังนี้

     ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักไม่เกินอัตราน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อลูกจ้างหนึ่งคน ดังต่อไปนี้
          1. ยี่สิบกิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุตั้งแต่สิบห้าปีแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี
          2. ยี่สิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กชายอายุตั้งแต่สิบห้าปีแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี
          3. ยี่สิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นหญิง
          4. ห้าสิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นชาย

     ในกรณีของหนักเกินอัตราน้ำหนักที่กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีและให้ลูกจ้างใช้เครื่องทุนแรงที่เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง
ดังนั้นในการยกของนั้นเราจึงต้องมีการวางแผน และเรียนรู้ท่าทางที่ถูกต้องในการยกของ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ เช่น
          1. อาการปวดหลังทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรัง
          2. โรคกระดูกทับเส้นประสาท
          3. เข่าเสื่อม
          4. มือชา เนื่องจากเส้นเลือดและเส้นประสาทถูกกดทับ
          5. ไส้เลื่อน
     หลักการทั่วไปในการวางแผนการยกของ เพื่อเตรียมตัวพร้อมก่อนยก มีดังต่อไปนี้
          1. ต้องประเมินน้ำหนักของวัสดุสิ่งของ ว่าจะยกตามลำพังเพียงคนเดียวได้หรือไม่
          2. ถ้าไม่สามารถยกได้ต้องหาคนช่วยยก ไม่ควรพยายามยกเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของที่หนักมากโดยลำพัง
          3. ตรวจสภาพบริเวณที่จะยกโดยรอบ เช่น ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทาง มีเนื้อที่ว่างมากพอในการยกเคลื่อนย้าย พื้นจะต้องไม่ลื่น และมีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น
          4. ควรใช้เครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้กำลังแรงงานคน
          5. จัดวางตำแหน่งวัสดุสิ่งของที่จะยก ไม่สูงเกินกว่าระดับไหล่
          6. การทำงานกับวัสดุสิ่งของที่มีน้ำหนักต่างๆ กัน เมื่อยกของที่หนักแล้วให้สลับมายกของเบาเพื่อพักกล้ามเนื้อ และเพื่อช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
          7. ควรใช้ถุงมือ เพื่อป้องกันการถลอก ขูดขีด และการถูกบาดจากของมีคม และสวมใส่รองเท้านิรภัยเพื่อป้องกันการลื่นไถล และป้องกันการบาดเจ็บจากวัสดุสิ่งของหล่นทับ

การยกของที่ถูกวีธี

     แบ่งเป็น การยกสิ่งของคนเดียว และการยกสิ่งของด้วยคนสองคน
การยกวัสดุสิ่งของคนเดียว โดยวัสดุอยู่ในระดับพื้น
     1. ยืนชิดวัสดุสิ่งของ วางเท้าให้ถูกต้องและมีความมั่นคง เพื่อป้องกันการเสียสมดุลของร่างกาย
     2. ย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง เพื่อรักษาสภาพความโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นแนวตรง หรือเป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้แรงกดลงบนหมอนรองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่าๆ กัน
     3. จับวัสดุสิ่งของให้มั่นคงโดยใช้ฝ่ามือจับ เพื่อป้องกันการลื่นหลุดมือ และหากเป็นไปได้ ควรมีที่จับหรือหูจับ เพื่อทำให้จับได้ถนัดและง่ายขึ้น
     4. ควรให้แขนชิดลำตัว ไม่ควรกางแขนออก และให้วัสดุสิ่งของที่จะยกอยู่ชิดกับลำตัวให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำหนักของวัสดุสิ่งของผ่านลงที่ต้นขาทั้งสองข้าง
     5. ควรให้ตำแหน่งของศีรษะสัมพันธ์กับร่างกาย โดยให้ศีรษะและกระดูกสันหลังอยู่ในแนวเดียวกัน คืออยู่ในแนวตรง ซึ่งจะทำให้มองเห็นทางเดินได้ชัดเจนในขณะที่ยกขึ้นและเดิน
     6. ค่อยๆ ยืดเข่า เพื่อยืนขึ้นโดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขา สะโพก ไหล่ และต้นแขน ในขณะที่ยืนขึ้น หลังจะอยู่ในแนวตรงหรือเป็นไปตามธรรมชาติ

การยกสิ่งของด้วยคนสองคน
     เป็นลักษณะการช่วยยกวัสดุสิ่งของหนึ่งชิ้นด้วยคนจำนวนสองคน โดยยกที่ด้านหัวและด้านท้ายของวัสดุสิ่งของ ซึ่งใช้ท่าทางการยกรูปแบบเดียวกับการยกคนเดียว ในการยกเคลื่อนย้าย ควรยกขึ้นพร้อมกัน อาจใช้วิธีนับหนึ่ง สอง สาม แล้วยก เป็นต้น และควรใช้ความเร็วในการยกเท่ากัน ในกรณีที่น้ำหนักด้านหัวและด้านท้ายของวัสดุสิ่งของไม่เท่ากัน และต้องยกหลายครั้ง ผู้ยกทั้งสองควรสลับด้านกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
     1. ยืนชิดวัสดุสิ่งของ วางเท้าให้ถูกต้องและมีความมั่นคงเพื่อป้องกันการเยสมดุลของร่างกาย
     2. ย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง เพื่อรักษาสภาพความโค้งของกระดูกสันหลังให้เป็นแนวตรง หรือเป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้แรงกดลงบนหมอนรองกระดูกสันหลังมีการกระจายตัวเท่ากัน
     3. จับวัสดุสิ่งของให้มั่นคงโดยใช้ฝ่ามือจับ เพื่อป้องกันการลื่นหลุดมือ และหากเป็นไปได้ควรมีที่จับหรือหูจับ เพื่อทำให้จับได้ถนัดและง่ายขึ้น
     4. ควรให้แขนชิดลำตัว ไม่ควรกางแขนออก และให้วัสดุสิ่งของที่จะยกอยู่ชิดกับลำตัวให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำหนักของวัสดุสิ่งของผ่านลงที่ต้นขาทั้งสองข้าง
     5. ควรให้ตำแหน่งของศีรษะสัมพันธ์กับร่างกาย โดยให้ศีรษะและกระดูกสันหลังอยู่ในแนวเดียวกัน คือ อยู่ในแนวตรง ซึ่งจะทำให้มองเห็นทางเดินได้ชัดเจนในขณะที่ยกขึ้นและเดิน
     6. ค่อยๆ ยืดเข่าเพื่อยืนขึ้น โดยใช้กำลังจากกล้ามเนื้อขา และขณะที่ยกขึ้น หลังจะอยู่ในแนวตรงหรือเป็นไปตามธรรมชาติ

ข้อควรรู้ในการยกของ

     1. ในขณะยกของ ควรเคลื่อนไหวทั้งตัว ไม่ควรเอี้ยวคอ หลัง หรือเอว ให้จมูกตรงตั้งฉาก หน้ามองตรงไปข้างหน้า โดยเฉพาะเวลายกของหนัก ในกรณีที่จะหมุนตัวให้ใช้วิธีหมุนข้อเท้าแทน
     2. อย่าเอื้อมหยิบของในที่สูง โดยฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก หากจำเป็นต้องยก หรือ เคลื่อนย้ายสิ่งของในที่สูงให้ใช้บันไดหรือโต๊ะต่อเพิ่มความสูงจากพื้น ช่วยในการยกของ เพื่อให้ของที่จะหยิบอยู่ในระดับสายตา ไม่ควรเขย่งหรือเงยหน้าเต็มที่ เอื้อมจนสุดแขน เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อล้าร่างกายเสียความมั่นคง และก่อให้เกิดอันตรายกับหลังได้ ควรใช้วิธีผลักหรือลาก มากกว่าดึงเข้ามาหาตัว
     3. หากยกสองคน ควรเลือกคู่ยกที่ขนาดตัวใกล้เคียงกัน และยกของให้ขนานกับพื้น เพื่อป้องกันคนใดคนหนึ่งรับน้ำหนักที่มากเกินควร จะทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้
     4. ในการยกของ พยายามให้ของชิดลำตัวมากที่สุด โดยที่หลังยังตรงอยู่ เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง
     5. เมื่อยกของซ้ำๆกัน ควรใส่เฝือกหรืออุปกรณ์พยุงเอวเวลายก
     6. ควรยกของขึ้นมาให้สูงระดับเอวหรือข้อศอกห้ามยกของหนักเกินกว่าระดับหน้าอก

การบริหารร่างกาย

     เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง ช่วยลดอัตราการเกิดการปวดหลังได้อย่างดี

ท่าที่ 1 นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แขนแนบข้างลำตัว จังหวะที่ 1 เกร็งกล้ามเนื้อท้องเพื่อกดหลังให้แนบกับพื้น นับ 1-3 ช้า ๆ จังหวะที่ 2 คลายกล้ามเนื้อปล่อยพักตามสบาย ทำ 5-6 ครั้งในวันแรกแล้วเพิ่มขึ้นในวันต่อไป


ท่าที่ 2 นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง ผงกศีรษะค้างไว้นับ 1-2 แล้วเอาลงเริ่มทำครั้งแรก 10 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มจนถึง 25 ครั้งในวันต่อไป


ท่าที่ 3 นอนหงายเหยียดขาทั้ง 2 ข้าง ยกขาข้างหนึ่งให้ตั้งฉากกับลำตัว โดยเข่าไม่งอ แล้วค่อย ๆ เอาลง จากนั้นยกอีกข้างหนึ่งสลับกัน เมื่อเอาลงแล้วยกพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง อีกครั้งหนึ่งเริ่มทำ 3 ครั้งแล้วค่อยเพิ่มให้ถึง 10 ครั้ง



ท่าที่ 4 นอนคว่ำขาเหยียดตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นค้างไว้ นับ 1-3 จึงวางลงสลับกับยกขาอีกข้างหนึ่ง ทำเหมือนกันโดยที่เข่าไม่งอขณะยกขา ทำ 5 ครั้งต่อไปค่อยเพิ่มขึ้น


ท่าที่ 5 ยืนหลังตรง งอเข่างอสะโพกลงนั่งให้ชิดพื้นมากที่สุดโดยหลังไม่งอเลย เริ่มทำ 3 ครั้ง เพิ่มขึ้นจน 10 ครั้งวันต่อไป


ท่าที่ 6 นั่งหลังตรง ขาข้างหนึ่งเหยียดยาวเข่าตรง ขาอีกข้างงอขึ้นมาตั้งไว้ เริ่มทำโดยเหยียดแขนทั้งคู่ แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าให้ไกลที่สุดจนรู้สึกตึงที่หลังขาข้างที่เหยียด นับ 1-3 จึงค่อยเอนหลังกลับท่าเดิม ทำ 5-6 ครั้ง ต่อไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ท่าที่ 7 นอนหงายงอเข่าขึ้นตั้งไว้ 2 ข้าง มือประสานไว้ตรงเข่า จากนั้นดึงขาเข้ามาชิดอกพร้อมกับยกศีรษะขึ้นด้วย นับ 1-3 แล้วกลับไปอยู่ท่าเดิม


ท่าที่ 8 นอนหงายงอเข่าขึ้นตั้งไว้ จังหวะที่ 1 เกร็งกล้ามเนื้อท้องไว้หลังติดพื้น จังหวะที่สองยกก้นให้ลอดขึ้นพ้นพื้นในเวลาเดียวกัน นับ 1-3 ค่อยกลับมาอยู่ในท่าเดิม


ท่าที่ 9 ยืนตรงมือทั้ง 2 เหยียดยันกำแพงไว้ เท้าทั้ง 2 ห่างจากกำแพงครึ่งเมตร จังหวะที่ 1 โน้มตัวไปข้างหน้า ขณะที่ตัวตรงอยู่ ส้นเท้ายังคงแตะอยู่ที่พื้นเช่นเดิม 1-3 จากนั้นค่อยดันตัวกลับมายืนท่าเดิม


เอกสารอ้างอิง
1. http://www.i-medipro.com
2 http://www.thaiwoodcentral.com
3. http://oshthai.labour.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น